รายวิชาการจัดการฐานข้อมูล (Database Management System) ง30250 สำหรับใช้เป็นสื่อการสอน ยินดีต้อนรับนักเรียนทุกคนนะค่ะ โดย อ.พรหมพร เพิ่มพูล

วันพฤหัสบดีที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

หน่วยการเรียนรู้ที่ 3 แบบจำลองฐานข้อมูลเชิงสัมพันธ์ (The Relational Database Model)


หน่วยการเรียนรู้ที่ 3 

แบบจำลองฐานข้อมูลเชิงสัมพันธ์ 

(The Relational Database Model)

3.1      บทนำ(Introduction)
แบบจำลองฐานข้อมูลเชิงสัมพันธ์ถูกนำเสนอโดย E.F. Codd ในปี 1970 ซึ่งเป็นแบบจำลองที่มีพื้นฐานจากทฤษฎีทางคณิตศาสตร์  เนื่องจากแบบจำลองฐานข้อมูลแบบลำดับชั้น(Hierarchical Database Model) และแบบจำลองแบบเครือข่าย(Network Database Model) มีการแสดงความสัมพันธ์ระหว่างเรคคอร์ดใดๆของแฟ้มข้อมูลสองแฟ้ม  แต่ละเรคคอร์ดจะต้องมีการใช้เขตข้อมูลที่เป็นพอยเตอร์(pointer)ที่บอกตำแหน่งที่อยู่จริงในจานแม่เหล็กของอีกเรคคอร์ดหนึ่งที่มีความสัมพันธ์กัน  ซึ่ง E.F.  Codd กล่าวว่ารูปแบบของแบบจำลองทั้งสองแบบจะทำให้เกิดข้อจำกัดในการจัดการข้อมูลภายใน  เนื่องจากถ้ามีการเพิ่มฟิลด์ข้อมูลลงไปในเรคคอร์ดใดๆของแฟ้มข้อมูล  จะต้องมีการจัดตำแหน่งที่อยู่ใหม่ของเรคคอร์ดต่างๆ ทั้งหมดในจานแม่เหล็ก  ซึ่งต้องมีการเขียนโปรแกรมจัดการในด้านนี้โดยเฉพาะ  แสดงให้เห็นว่าผู้ที่จะจัดการกับฐานข้อมูลทั้งสองแบบนี้ได้นั้นจะต้องเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับการเขียนโปรแกรมเป็นอย่างดี  ทำให้การจัดการข้อมูลในฐานข้อมูลแบบนี้ยุ่งยาก
   จากข้อจำกัดของแบบจำลองฐานข้อมูลแบบลำดับชั้นและแบบเครือข่ายที่กล่าวมาแล้วนั้น  จึงนำไปสู่การพัฒนาระบบฐานข้อมูลแบบใหม่ขึ้นมา  ซึ่งก็คือแบบจำลองฐานข้อมูลเชิงสัมพันธ์นั่นเอง   ซึ่งเป็นแบบจำลองที่นิยมใช้กันมากในปัจจุบัน เนื่องจากเป็นแบบจำลองที่ง่ายต่อการใช้งานและผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องทราบวิธีการจัดเก็บข้อมูลในระดับกายภาพ  เช่น ไม่ต้องทราบว่าข้อมูลเก็บอยู่ ณ ตำแหน่งใดในสื่อบันทึกข้อมูล  และไม่ต้องทราบว่ามีวิธีการเข้าถึงข้อมูลในสื่อบันทึกอย่างไร 

3.2      โครงสร้างข้อมูลเชิงสัมพันธ์(Relational Data Structure)
3.2.1 องค์ประกอบของรีเลชัน
แบบจำลองฐานข้อมูลเชิงสัมพันธ์มีลักษณะการจัดเก็บข้อมูลในลักษณะของตารางข้อมูล  ซึ่งตารางข้อมูลแต่ละตารางในฐานข้อมูลจะมีความสัมพันธ์กัน  เรียกตารางข้อมูลดังกล่าวนี้ว่า รีเลชัน(Relation) ดังรูปที่ 3.1  ซึ่งมีองค์ประกอบของรีเลชันดังนี้
·       รีเลชัน(Relation) หมายถึง ตารางข้อมูลแบบ 2 มิติ ซึ่งแต่ละรีเลชันจะมีชื่อรีเลชันเพื่อใช้อ้างอิง
·       แอททริบิวต์(Attribute) หมายถึง แต่ละคอลัมน์ที่อยู่ในรีเลชัน แต่ละแอททริบิวต์จะมีชื่อกำกับแต่ละแอททริบิวต์ในต่ละรีเลชัน
·       ทูเพิล(Tuple) หมายถึง  แต่ละแถวหรือแต่ละรายการข้อมูลในรีเลชัน
·       ดีกรี(Degree) หมายถึง  จำนวนแอททิริบิวท์ของแต่ละรีเลชัน
·       คาร์ดินัลลิตี้ (Cardinality) หมายถึง จำนวนทูเพิลในแต่ละรีเลชัน

·       โดเมน(Domain) หมายถึง ขอบเขตค่าของข้อมูลที่เป็นไปได้ที่กำหนดให้แต่ละแอททริบิวท์ เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการป้อนข้อมูลในรีเลชัน  เช่น เงินเดือน เป็นข้อมูลตัวเลข มีค่าตั้งแต่ 5000 – 100000 เป็นต้น ดังรูปที่ 3.2

รูปที่ 3.1 รีเลชันสาขาและพนักงาน

จากรูปที่ 3.1  รีเลชัน สาขา และ พนักงาน  มีดีกรี เท่ากับ 4 , 8  และมีคาร์ดินัลลิตี้ เท่ากับ 5 , 6 ตามลำดับ
  
ตารางที่ 3.1  โดเมนของบางแอททรริบิวท์ของรีเลชัน สาขา และ พนักงาน



3.2.2        คุณสมบัติของรีเลชัน
รีเลชันมีคุณสมบัติดังนี้
§  มีชื่อรีเลชันไม่ซั้น
§  ในแต่ละเซลล์(cell)ของรีชัน บรรจุข้อมูลได้ 1 ค่าเท่านั้น
§  แต่ละแอททริบิวท์ต้องมีชื่อไม่ซ้ำกันในรีเลชันเดียวกัน
§  ค่าข้อมูลที่อยู่ในแอททริบิวท์เดียวกันต้องอยู่ในขอบเขตโดเมนเดียวกัน
§  ห้ามมีทูเพิลซ้ำกันในรีเลชันเดียวกัน
§  การเรียงลำดับแอททริบิวท์ในรีเลชันไม่ถือเป็นสำคัญ
§  การเรียงลำดับทูเพิลในรีเลชันไม่ถือเป็นสำคัญ

3.2.3        กุญแจของรีเลชัน
จากคุณสมบัติของรีเลชันที่กล่าวว่า ห้ามมีทูเพิลซ้ำกันในรีเลชันเดียวกัน  ดังนั้นเราจึงสามารถที่จะระบุค่าในแอททริบิวท์ใดแอททริบิวท์หนึ่งซึ่งไม่ซ้ำกันในแต่ละทูเพิลได้ ซึ่งในส่วนนี้จะกล่าวถึงกุญแจต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับรีเลชัน(Relational key)
กุญแจคู่แข่ง(Candidate key)
กุญแจคู่แข่ง หมายถึง แอททริบิวท์หรือกลุ่มของแอททริบิวท์ ที่ระบุแต่ละทูเพิลได้อย่างไม่ซ้ำกันในแต่ละรีเลชัน  กุญแจคู่แข่งบางกุญแจอาจประกอบด้วยแอททริบิวท์เดียวหรือมากกว่าหนึ่งแอททริบิวท์ ถ้าไม่มีแอททริบิว์เดียวที่สามารถระบุค่าทูเพิลไม่ซ้ำกันได้  แต่การกำหนดกุญแจคู่แข่งควรให้มีจำนวนแอททริบิวท์ที่น้อยที่สุดที่ประกอบกันเป็นกุญแจหนึ่งกุญแจ  ในแต่ละรีเลชันสามารถมีกุญแจคู่แข่งได้มากกว่า 1 กุญแจ
กุญแจหลัก(Primary Key)
กุญแจหลัก หมายถึง  กุญแจคู่แข่งที่ถูกเลือกให้ทำหน้าที่ในการระบุค่าในทูเพิลไม่ให้ซ้ำ
กัน ในทุกรีเลชันจะต้องกำหนดแอททริบิวท์ให้เป็นกุญแจหลักของแต่ละรีเลชันเสมอ   โดยแต่ละรีเลชันสามารถมีกุญแจหลักได้เพียงกุญแจเดียว แต่อาจเป็นกุญแจที่ประกอบขึ้นจากหลายแอททริบิวท์รวมกันทำหน้าที่เป็นกุญแจหลักของรีเลชัน 
ส่วนใหญ่แล้วเราจะกำหนดกุญแจหลักมาจากกุญแจคู่แข่ง  ถ้าในรีเลชันมีกุญแจคู่แข่งมากกว่า 1 กุญแจ เราจะพิจารณาเลือกกุญแจคู่แข่งที่มีขนาดเล็กที่สุดมาเป็นกุญแจหลักของรีเลชัน
กุญแจรวม(Composite Key)
กุญแจรวม หมายถึง กุญแจที่ประกอบขึ้นจากแอททริบิวท์มากกว่า 1 แอททริบิวท์
กุญแจสำรอง(Alternate Key)
กุญแจสำรอง หมายถึง กุญแจคู่แข่งที่เหลือไม่ถูกเลือกให้เป็นกุญแจหลัก ในกรณีที่มีกุญแจคู่แข่งหลายกุญแจ
กุญแจนอก(Foreign Key)
กุญแจนอก หมายถึง แอททริบิวท์หรือกลุ่มของแอททริบิวท์ที่มีความสัมพันธ์กับกุญแจคู่แข่งหรือกุญแจหลักในอีกรีเลชันหรือในรีเลชันเดียวกัน 
ยกตัวอย่าง เช่น ในรูปที่ 3.1 พิจารณาแอททริบิวท์ รหัสสาขา ในรีเลชัน สาขา และ พนักงาน โดย รหัสสาขา ในรีเลชัน สาขา ทำหน้าที่เป็นกุญแจหลักของรีเลชัน  ส่วน รหัสสาขา ในรีเลชัน พนักงาน ทำหน้าที่เป็นกุญแจนอก เพื่อเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของข้อมูลระหว่าง 2 รีเลชันนี้


3.2.2        การแสดงเค้าร่างของฐานข้อมูลเชิงสัมพันธ์
ฐานข้อมูลเชิงสัมพันธ์ประกอบด้วยรีเลชันที่เป็นบรรทัดฐาน ดังรูปที่ 3.3 เป็นตัวอย่างของฐานข้อมูลของบริษัทบ้านในฝัน  ส่วนเค้าร่างของฐานข้อมูลเชิงสัมพันธ์ จะแสดงโครงร่างของรีเลชัน ซึ่งประกอบด้วยชื่อรีเลชันและแอททริบิวท์ของแต่ละรีเลชัน





 รูปที่ 3.3 ตัวอย่างข้อมูลในฐานข้อมูลบริษัทบ้านในฝัน(ต่อ)

จากรูปที่ 3.3  สามารถเขียนเค้าร่างของฐานข้อมูลบริษัทบ้านในฝันได้ดังนี้
สาขา(รหัสสาขา , ที่อยู่ , จังหวัด , รหัสไปรษณีย์)
พนักงาน(รหัสพนักงาน , ชื่อ , นามสกุล ,ตำแหน่ง , เพศ , วันเกิด ,เงินเดือน ,รหัสสาขา)
สิ่งปลูกสร้าง(รหัสสิ่งปลูกสร้าง , ที่อยู่ , จังหวัด,รหัสไปรษณีย์ , ประเภท ,จำนวนห้อง ,
                    ค่าเช่า, รหัสเจ้าของ , รหัสพนักงาน , รหัสสาขา)
ลูกค้า(รหัสลูกค้า , ชื่อ , นามสกุล , ที่อยู่ ,โทรศัพท์ , ประเภทที่ต้องการ , ค่าเช่าสูงสุด/)
เจ้าของ(รหัสเจ้าของ , ชื่อ , นามสกุล , ที่อยู่ ,โทรศัพท์)
การเข้าชมสิ่งปลูกสร้าง(รหัสลูกค้า , รหัสสิ่งปลูกสร้าง , วันที่เข้าชม , ความคิดเห็น)
การลงทะเบียน(รหัสลูกค้า , รหัสสาขา , รหัสพนักงาน , วันที่ลงทะเบียน)
ในการแสดงเค้าร่างของรีเลชัน จะเขียนชื่อรีเลชันตามด้วยชื่อแอททริบิวท์ภายในวงเล็บ ขีดเส้นใต้ที่กุญแจหลัก และขีดเส้นประที่กุญแจนอก
แบบจำลองแนวคิดหรือเค้าร่างแนวคิด(Conceptual schema) คือ เค้าร่างรีเลชันทั้งหมดของฐานข้อมูล  รูปที่ 3.3 แสดงตัวอย่างข้อมูลของเค้าร่างฐานข้อมูลเชิงสัมพันธ์

3.1      ความคงสภาพของข้อมูล(Data Integrity)
ความคงสภาพของข้อมูล หมายถึงข้อบังคับ หรือ ข้อกำหนด ที่บังคับใช้กับข้อมูลในฐานข้อมูล ในแบบจำลองฐานข้อมูลเชิงสัมพันธ์มีกฏความคงสภาพที่สำคัญ 2 ข้อ ได้แก่ ความคงสภาพของเอนติตี้(Entity integrity) และความคงสภาพของการอ้างอิง(Referential integrity)  แต่ก่อนที่จะอธิบายกฏทั้งสองข้ออย่างละเอียด เราควรทำความเข้าใจกับ ค่าว่าง(Null)” ของฐานข้อมูลก่อน
3.1.1        ค่าว่าง(Null)
ค่าว่าง หมายถึง ค่าที่เว้นว่างไว้ในบางแอททริบิวท์ของทูเพิล  เหตุที่เว้นเป็นค่าว่างไว้อาจเกิดจากการที่ยังไม่ทราบค่าดังกล่าว 
การกำหนดข้อมูลเป็นเลขศูนย์(0) , เครื่องหมายขีด(-) หรือการกดแป้นเคาะวรรค(Space bar) ไม่ใช่ค่าว่าง  ค่าว่างคือค่าที่ปล่อยให้ว่างเปล่าไว้ไม่ต้องกำหนดค่าใด ๆ มาแทน
ตัวอย่างของค่าว่าง เช่น พิจารณารูปที่ 3.3 ที่รีเลชัน การเข้าชมสิ่งปลูกสร้าง  ในแอท-ทริบิวท์ ความคิดเห็น จะถูกเว้นว่างไว้ จนกว่าจะมีลูกค้าเข้าชมสิ่งปลูกสร้างที่สนใจแล้วกลับมาบอกความคิดเห็นแก่ตัวแทนของบริษัท

3.1.2        ความคงสภาพของเอนติตี้(Entity integrity rule)
กฏความคงสภาพของเอนติตี้เกี่ยวข้องกับกุญแจหลักของรีเลชัน โดยมีนิยามดังนี้
ห้ามแอททริบิวท์ที่เป็นกุญแจหลักของรีเลชันบรรจุค่าว่าง  จากคุณสมบัติของกุญแจหลักที่ต้องเป็นแอททริบิวท์ที่สามารถระบุค่าของทูเพิลที่ไม่ซ้ำกัน ดังนั้นค่าข้อมูลในแอททริบิวท์ที่เป็นกุญแจหลักจึงไม่สามารถเก็บค่าว่างได้  ตัวอย่างเช่น รีเลชัน สาขา  มีแอททริบิวท์ รหัสสาขา ทำหน้าที่เป็นกุญแจหลัก ดังนั้นจากกฏความคงสภาพนี้ จึงทำให้แอททริบิวท์ รหัสสาขา ไม่สามารถบรรจุค่าว่างได้  อีกตัวอย่าง พิจารณาที่รีเลชัน การเข้าชมสิ่งปลูกสร้าง มีกุญแจหลักเป็นแบบกุญแจรวมคือประกอบด้วยแอททริบิวท์ รหัสลูกค้า และ รหัสสิ่งปลูกสร้าง  จากกฏความคงสภาพของเอนติตี้นี้ มีผลทำให้ไม่สามารถบรรจุค่าว่างลงในแอททริบิวท์ รหัสลูกค้า หรือ รหัสสิ่งปลูกสร้าง หรือทั้งสองแอททริบิวท์

3.1.3        กฎความคงสภาพของการอ้างอิง(Referential integrity rule)
กฎความคงสภาพของการอ้างอิงเกี่ยวข้องกับกุญแจนอกของรีเลชัน โดยมีนิยามดังนี้
ถ้าในรีเลชันมีกุญแจนอก ค่าข้อมูลในแอททริบิวท์ที่เป็นกุญแจนอกต้องมีค่าตรงกับค่าของแอททริบิวท์ที่เป็นกุญแจคู่แข่งหรือกุญแจหลักของอีกรีเลชันที่กุญแจนอกนั้นมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องด้วย
ยกตัวอย่างเช่น แอททริบิวท์ รหัสสาขา ในรีเลชัน พนักงาน ทำหน้าที่เป็นกุญแจนอกซึ่งอ้างอิงไปยังแอททริบิวท์ รหัสสาขา ในรีเลชัน สาขา  จากกฎความคงสภาพของการอ้างอิงนี้กำหนดให้ค่าข้อมูล รหัสสาขา ที่พนักงานทำงานอยู่ในรีเลชัน พนักงาน ต้องมีค่าตรงกับ รหัสสาขา ที่ปรากฏในรีเลชัน สาขา  พิจารณารูปที่ 3.3  พนักงานจะสังกัดสาขาที่มีรหัส B025 ไม่ได้ เนื่องจากไม่มีรหัสสาขานี้ปรากฏในรีเลชัน สาขา

  3.1.4        ข้อกำหนดในการปรับปรุงข้อมูล

ในกรณีที่มีกุญแจนอกจากรีเลชันอื่นอ้างอิงมายังกุญแจหลักของรีเลชัน  เช่น แอททริ-บิวท์ รหัสสาขา ในรีเลชัน สาขา ซึ่งเป็นกุญแจหลัก  ถูกอ้างอิงกับ รหัสสาขา ในรีเลชัน พนักงาน , สิ่งปลูกสร้าง และ การลงทะเบียน  ดังนั้นหากมีการแก้ไขหรือลบข้อมูลในรีเลชัน สาขา ย่อมมีผลต่อรีเลชันดังที่กล่าวมาแล้ว  เพื่อรักษากฏความคงสภาพของการอ้างอิง ดังนั้นในขั้นตอนการสร้างรีเลชันที่มีกุญแจนอก จะมีวิธีรักษาความถูกต้องของข้อมูลเมื่อมีการอ้างอิงได้ 4 รูปแบบดังนี้
§  แบบมีข้อจำกัด(Restrict)  หากมีการปรับปรุง(Update)หรือลบ(Delete) ข้อมูลในกุญแจหลักของรีเลชันหลัก(Parent relation) ที่มีข้อมูลที่เป็นกุญแจนอกอ้างอิงอยู่ในขณะนั้น  จะไม่สามารถปรับปรุงหรือลบข้อมูลดังกล่าวได้
ตัวอย่าง การแก้ไขหรือลบแบบมีข้อจำกัด
หากต้องการแก้ไข รหัสสาขา ในรีเลชัน สาขา  จาก “B005” เป็น B050” (หรือต้องการลบ สาขาที่มีรหัส “B005” ออกจากรีเลชัน สาขา) จะไม่สามารถทำได้หากมีการอ้างถึงข้อมูล “B005” ในแอททริบิวท์ รหัสสาขาในรีเลชัน พนักงาน (ซึ่งทำหน้าที่เป็นกุญแจนอก)  จะแก้ไขได้ก็ต่อเมื่อ ไม่มีการอ้างถึงข้อมูลดังกล่าวในกุญแจนอกของรีเลชัน พนักงานแล้ว

§  แบบต่อเนื่อง(Cascadeหากมีการปรับปรุง(Update) ข้อมูลในกุญแจหลักของรีเลชั่นหลัก(Parent relation) ที่มีข้อมูลที่เป็นกุญแจนอกอ้างอิงอยู่ในขณะนั้น  ระบบจัดการฐานข้อมูล จะปรับปรุงข้อมูลทุกรายการในกุญแจนอกที่อ้างอิงอยู่ในขณะนั้นให้เป็นค่าตามกุญแจหลัก  หรือหากมีการลบ(Delete) ข้อมูลในกุญแจหลักของรีเลชั่นหลัก(Parent relation) ที่มีข้อมูลที่เป็นกุญแจนอกอ้างอิงอยู่ในขณะนั้น  ระบบจัดการฐานข้อมูลจะลบรายการข้อมูลที่กุญแจนอกนั้นอ้างอิงอยู่
ตัวอย่าง การแก้ไขหรือลบแบบต่อเนื่อง
หากต้องการแก้ไข รหัสสาขา ในรีเลชัน สาขาจาก “B005” เป็น “B050” ระบบจัดการฐานข้อมูลจะทำการแก้ไขข้อมูลรหัสสาขา ที่เป็นกุญแจนอกในรีเลชัน พนักงานในรายการที่มีรหัสสาขา “B005” ให้เป็น “B050” อย่างอัตโนมัติ
หากต้องการลบข้อมูลในรีเลชัน สาขาที่มีรหัสสาขา “B005” ออกจากรีเลชัน สาขา ระบบการจัดการฐานข้อมูลจะลบทูเพิลในรีเลชัน พนักงานที่มีรหัสสาขา เป็น “B005” ออกไปโดยอัตโนมัติ

§  แบบเป็นค่าว่าง(Nullify)  หากมีการปรับปรุง(Update)หรือลบ(Delete) ข้อมูลในกุญแจหลักของรีเลชั่นหลัก(Parent relation) ที่มีข้อมูลที่เป็นกุญแจนอกอ้างอิงอยู่ในขณะนั้น  ระบบจัดการฐานข้อมูล จะปรับค่าข้อมูลทุกรายการในกุญแจนอกที่อ้างอิงอยู่ในขณะนั้นให้เป็นค่าว่าง(Null) 
ตัวอย่าง การแก้ไขหรือลบแบบให้เป็นค่าว่าง
หากต้องการแก้ไขรหัสสาขา ในรีเลชัน สาขาจาก “B005” เป็น “B050” ระบบจัดการฐานข้อมูลจะทำการแก้ไขข้อมูลรหัสสาขา ที่เป็นกุญแจนอกในรีเลชัน พนักงานในทูเพิลที่มีรหัสสาขา “B005” ให้เป็นค่าว่าง(Null value) อย่างอัตโนมัติ
หากต้องการลบข้อมูลในรีเลชัน สาขาที่มีรหัสสาขา “B005” ออกจากรีเลชัน ระบบการจัดการฐานข้อมูลจะแก้ไขแอททริบิวท์ รหัสสาขา ของทูเพิลในรีเลชัน พนักงานที่มีรหัสสาขา “B005” เป็นค่าว่าง(Null value) โดยอัตโนมัติ

§  แบบกำหนดให้เป็นค่าเริ่มต้น(Default)  หากมีการปรับปรุง(Update)หรือลบ(Delete) ข้อมูลในกุญแจหลักของรีเลชั่นหลัก(Parent relation) ที่มีข้อมูลที่เป็นกุญแจนอกอ้างอิงอยู่ในขณะนั้น  ระบบจัดการฐานข้อมูล จะปรับค่าข้อมูลทุกรายการในกุญแจนอกที่อ้างอิงอยู่ในขณะนั้นให้เป็นค่ากำหนดเริ่มต้นของระบบ(Default)
ตัวอย่าง การแก้ไขหรือลบแบบให้เป็นค่าเริ่มต้น
หากต้องการแก้ไขรหัสสาขา ในรีเลชัน สาขาจาก “B005” เป็น “B050” ระบบจัดการฐานข้อมูลจะทำการแก้ไขข้อมูลรหัสสาขา ที่เป็นกุญแจนอกในรีเลชัน พนักงานในทูเพิลที่มีรหัสสาขา “B005” ให้เป็นค่าเริ่มต้นค่าหนึ่งที่กำหนดไว้ในระบบอย่างอัตโนมัติ
หากต้องการลบข้อมูลในรีเลชัน สาขาที่มีรหัสสาขา “B005” ออกจากรีเลชัน ระบบการจัดการฐานข้อมูลจะแก้ไขค่าในแอททริบิวท์ของทูเพิลในรีเลชัน พนักงานที่มีรหัสสาขา “B005”  ให้เป็นค่าเริ่มต้นค่าหนึ่งที่กำหนดไว้ในระบบโดยอัตโนมัติ

3.2      มุมมองหรือวิว(View)
ในสถาปัตยกรรม 3 ระดับของ ANSI/SPARC  ได้กล่าวถึง มุมมองภายนอก(External view) ว่าเป็นเหมือนโครงสร้างของฐานข้อมูลที่ปรากฏให้ผู้ใช้มองเห็น ในฐานข้อมูลเชิงสัมพันธ์ คำว่า มุมมอง หรือ วิว หมายถึง รีเลชันเสมือน ที่ไม่มีการการจัดเก็บอยู่จริงในฐานข้อมูลแต่เกิดจากการดึงข้อมูลจากรีเลชันใดรีเลชันหนึ่งหรือหลายรีเลชันที่มีเก็บอยู่จริงในฐานข้อมูล หรือเกิดจากการคำนวณค่าจากข้อมูลในรีเลชันที่เก็บอยู่ในฐานข้อมูล

3.2.1              คำศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับวิว
รีเลชันหลัก(Base relation)  หมายถึง รีเลชันที่มีชื่อตามเอนติตี้ในเค้าร่างแนวคิด(Conceptual schema) ซึ่งมีการจัดเก็บข้อมูลจริงในฐานข้อมูล
มุมมองหรือวิว(View) หมายถึง ผลจากการดำเนินการกับรีเลชันหลักเพื่อสร้างเป็นอีกรีเลชัน  วิวเป็นรีเลชันเสมือนซึ่งไม่ได้มีการจัดเก็บอยู่จริงในฐานข้อมูลแต่จะถูกสร้างขึ้นเมื่อต้องการโดยผู้ใช้ในช่วงเวลาที่ต้องการ


3.2.2              จุดประสงค์ในการสร้างมุมมองหรือวิว
เหตุผลในการสร้างวิวมีดังนี้
§  เพื่อให้กลไลในการป้องกันข้อมูลมีประสิทธิภาพและยืดหยุ่น โดยการซ่อนบางส่วนของฐานข้อมูล  ผู้ใช้อาจจะมองไม่เห็นข้อมูลบางแอททริบิวท์หรือบางทูเพิลของรีเลชัน ซึ่งหายไปจากวิว
§  เพื่อให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงข้อมูลในรูปแบบที่ต้องการได้ ตัวอย่างเช่น ข้อมูลเดียวกันแต่มีรูปแบบในการมองเห็นไม่เหมือนกัน